เคล็ดไม่ลับถ่ายรูปสวยด้วยมือถือ
-แสงสว่างมีผลต่อภาพถ่ายวิธีที่ช่วยให้ถ่ายภาพออกมาชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแสงในสภาพแวดล้อม มันจะดีถ้าหากสามารถถ่ายภาพจากข้างนอก หรือ หากอยู่ในอาคารหรือห้อง การเปิดไฟให้สว่างเพียงพอนั้นช่วยได้เยอะ หรือหากแสงที่ออกมายังไม่ถูกใจ ผู้ใช้อาจจะปรับสมดุลแสงขาวให้ลงตัวมากขึ้นก็ได้ กล้องใกล้มือถือบางอันมาพร้อมแฟลช จริงๆ แล้วจะใช้แฟลชช่วยถ่ายก็ได้หากมันมืดเกินไปหรือนำไปใช้ตอนถ่ายภาพข้างนอก (แฟลชเติม) แต่ถ้ากล้องนั้นไม่มีแฟลชให้หลีกเลี่ยงการถ่ายรูปที่หันไปหาแหล่งกำเนิดแสงตรงๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะมีเงาแถมมาในภาพอย่างไม่ได้ตั้งใจ
-คนและวัตถุ ควรถ่ายในระยะใกล้
หนึ่งในความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดคือการถ่ายรูปที่ยืนห่างจากวัตถุหรือคนเกินไป หาจุดที่ถ่ายแล้วแสดงรายละเอียดของวัตถุได้เหมาะสม และอย่าลืมถ่ายในมุมมองอื่นๆ เผื่อนำมาแก้ไขหรือปรับแต่งภายหลังจะได้มีทางเลือกมากขึ้น
-หลังกดชัตเตอร์มือควรนิ่งค้างไว้(ประมาณ 3 วิ)
อันนี้เป็นปัญหาที่พบในกล้องดิจิตอลทั่วไป การถือมือถือให้นิ่งขณะถ่ายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในที่ๆ มีแสงน้อย กล้องจะเลือกชัตเตอร์ที่นานขึ้นเพื่อชดเชยแสง บางคนก็ใช้วิธีตั้งโทรศัพท์ไว้กับพื้นผิวของแข็ง ก่อนจะถ่ายภาพ ยิ่งกล้องมือถือที่มีความไวชัตเตอร์ไม่ดีนัก กว่าจะถ่ายเสร็จต้องกดชัตเตอร์และถือค้างไว้เล็กน้อย ไม่เช่นนั้นโอกาสเกิดภาพเบลอสูงมาก
-ใช้กล้องที่ติดมากับเครื่องถ่ายก่อนแล้วตกแต่งทีหลัง
กล้องมือถือมักใส่ฟีเจอร์สำหรับตกแต่งภาพหรือเอฟเฟกส์เพิ่มเติมมาด้วย ไม่ว่าจะเล่นโทนสี ซีเปีย, ขาวดำ, โมโน ฯลฯ แต่ขอแนะนำให้ถ่ายรูปในโหมดภาพสีที่ความละเอียดสูงแทนการไปเลือกโหมดขาว-ดำหรือซีเปีย เพราะอย่างน้อยก็สามารถนำภาพสีมาตกแต่งเป็นขาว-ดำหรือโหมดอื่นในภายหลังด้วยคอมพิวเตอร์ แต่คงไม่มีฟังก์ชั่นใดๆ ที่เปลี่ยนภาพถ่ายโทนขาวดำให้กลายเป็นภาพสีได้ (หรือมี ??)
-อย่ารีบลบภาพทันที
จำไว้ว่าการมองภาพจากหน้าจอมือถือนั้นไม่ดีและชัดเท่าดูผ่านคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นไปได้ อย่ารีบด่วนลบภาพที่ถ่ายไปแล้วทิ้งจนกว่าจะเอามาดูบนคอมพิวเตอร์ ไม่แน่ภาพที่คุณคิดว่าไม่สวย เมื่อดูผ่านคอมพิวเตอร์อาจจะดีกว่าที่คิดก็เป็นได้
-เลี่ยงการซูมภาพก่อนถ่าย
ถึงแม้ว่าการซูมมันน่าสนใจเมื่อถ่ายภาพ แต่อย่าลืมว่าการซูมดิจิตอลนั้นลดคุณภาพของภาพลงอย่างเห็นได้ชัด หากเป็นไปได้ถ่ายรูปโดยไม่ซูมและนำมาแก้ไขตัดเอาเฉพาะจุดที่สนใจภายหลังดีกว่า ยกเว้นแต่จะมีฟีเจอร์ออปติคอลซูม (Optical Zoom) หรือการซูมที่ไม่ทำลายคุณภาพของภาพ (อย่างเช่นมือถือกล้องเทพ Nokia 808 PureView)
-ทดลองใช้สมดุลแสงขาว (White Balance)
ฟีเจอร์นี้หลายคนชอบมองผ่านๆ การปรับสมดุลแสงขาวนี้ช่วยปรับเปลี่ยนความสมดุลของสีในภาพซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมด้วย ลองใช้ฟีเจอร์นี้ดู แล้วจะรู้ว่าการถ่ายภาพบนมือถือไม่ได้เลวร้ายนัก
-ฝึกถ่ายรูปด้วยมือถือบ่อยๆ
จุดเด่นของกล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอลและกล้องมือถือที่ทุกคนต้องยกให้คือ ไม่ว่าจะถ่ายรูปอีกกี่ครั้งก็ตาม มันไม่มี "ค่าใช้จ่าย" ดังนั้นถ้าซื้อมือถือมาแล้ว ใช้กล้องถ่ายรูปให้คุ้มเถอะ ทดสอบโหมดถ่ายรูปและลูกเล่นต่างๆ หามุมมองในการถ่ายรูปใหม่ๆ แล้วจะพบว่าคุณกำลังถือของเล่นที่ไม่มีวันหมดสนุก
-ศึกษาการจัดองค์ประกอบการถ่ายภาพ
ลองหาข้อมูลเรื่องการจัดองค์ประกอบของวัตถุในการถ่ายรูปดู เช่น วางวัตถุให้เป็นมุม มีมิติ อะไรพวกนี้ มันจะช่วยให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น และท้ายที่สุดเมื่อคุณรู้ทุกอย่างแล้ว ก็ลืมกฏเหล่านั้นให้หมดและถ่ายภาพตามสไตล์ที่บ่งบอกความเป็นคุณเถอะ
-ทำความสะอาดเลนส์กล้องให้สะอาด
หนึ่งในเรื่องที่มักถูกละเลย "ความสะอาด" มือถือมักถูกนำไปใส่ในกระเป๋ากางเกงหรือไม่ก็กระเป๋าถือ และน้อยคนที่จะมีถุงหรือกระเป๋าสำหรับใส่มือถือโดยเฉพาะ สภาพอากาศบ้านเราก็ไม่ค่อยจะเป็นใจ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก ทำให้เกิดความสกปรกได้ง่าย ลายนิ้วมือบนเลนส์กล้องเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก เวลาทำความสะอาดเลนส์บนกล้องมือถือก็ควรใช้ผ้านุ่ม หรือผ้าสำหรับทำความสะอาด-เช็ดแว่น
-เรียนรู้มารยาทในการถ่ายรูปจากกล้องโทรศัพท์
ถึงไม่มีกฏหมายบอกหรือป้ายเขียนไว้อย่างชัดเจนก็ตามที โปรดพิจารณาถึงความเหมาะสมและผลกระทบต่อคนอื่นเมื่อคุณถ่ายภาพด้วย มีหลายกรณีตัวอย่างที่ผู้ถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือถูกทำร้าย หรือถูกข่มขู่ อย่าลืมขออนุญาตคนแปลกหน้าก่อนที่จะไปถ่ายรูปเขา ที่สำคัญ รักษามารยาทในการงดใช้กล้องในสถานที่เช่น โรงภาพยนตร์ ฯลฯ
-ปรับความละเอียดในการถ่ายภาพให้สูงที่สุดทุกครั้ง
บางคนก็ลืมปรับความละเอียดในการถ่ายภาพให้สูงที่สุด พอจะเอามาแก้ไขในภายหลังภาพที่ได้ก็ไม่ค่อยดีเท่าที่คิด แต่อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฟนใหม่ๆ มีความละเอียดที่สูง จนบางครั้งก็ก่อให้เกิดปัญหาไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น เอาเป็นว่า ดูตามความเหมาะสมดีกว่า หากต้องส่งไฟล์ภาพให้คนอื่นก็เลือกความละเอียดที่เหมาะสำหรับนำไปใช้งานด้วย
#dfine Shop ®
❤ “นึกถึงเคสมือถือ คิดถึงร้านดีฟายน์”
www.dfine.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น